Tag Archives: ออทิสติก

การดูแลเด็กออทิสติกให้ได้รับพัฒนาการที่ดี

article-2181542-144E0375000005DC-170_634x423
ออทิสติก (Autistic) เป็นความผิดปกติของพัฒนาการเด็กรูปแบบหนึ่งซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว โดยเด็กไม่สามารถพัฒนาทักษะทางสังคมและการสื่อความหมายได้เหมาะสมตามวัย มีลักษณะพฤติกรรม กิจกรรม และความสนใจเป็นแบบแผนซ้ำๆ จำกัดเฉพาะบางเรื่องและไม่ยืดหยุ่น ปัญหาดังกล่าวเป็นตั้งแต่เล็กส่งผลให้เกิดข้อจำกัดในการดำรงชีวิต ซึ่งยังไม่สามารถหาสาเหตุที่แน่ชัดได้ ถึงแม้ว่ายังไม่ทราบสาเหตุก็ใช่ว่าจะทำอะไรไม่ได้เลย เนื่องจากการดูแลช่วยเหลือในปัจจุบันสามารถช่วยให้เด็กกลุ่มนี้ดีขึ้นได้มาก โดยเฉพาะถ้าได้รับการวินิจฉัยและดูแลช่วยเหลืออย่างเหมาะสมตั้งแต่อายุน้อยๆ และทำอย่างต่อเนื่อง ยังไม่มีวิธีการบำบัดรักษาที่จำเพาะเจาะจงให้หายขาดได้ แต่สามารถช่วยให้เด็กสามารถพัฒนาได้ และพัฒนาได้ดีด้วย

โรคนี้เป็นกลุ่มของโรคที่มีสาเหตุจากความผิดปกติของสมอง แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นสมองส่วนใด ที่ทำให้เกิดความบกพร่องของพัฒนาการด้านภาษาและสังคม โดยความรุนแรงของแต่ละโรคในกลุ่มแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับพัฒนาการทางภาษา ไอคิว และความผิดปกติอื่นๆที่พบร่วมด้วย และจากการสำรวจพบว่าเด็กเป็นออทิสติกมีแนวโน้มสูงขึ้นในทุกประเทศทั่วโลก และพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ในผลสำรวจเด็กที่ป่วยพบว่ากลุ่มเสี่ยงจะอยู่กลุ่มที่แม่มีปัญหาในระหว่างตั้งครรภ์ มีปัญหาระหว่างคลอด หรือหลังคลอด อย่างเช่น สมองของลูกทำงานผิดปกติเนื่องจากการติดเชื้อ อุบัติเหตุ หรือได้รับสารพิษ เช่น สารตะกั่ว หลังคลอดเป็นต้น แต่ไม่ได้หมายความว่าเด็กกลุ่มเสี่ยงจะเป็นเด็กพิเศษทุกคน และเด็กที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงก็อาจเป็นออกทิสติกได้เช่นกัน

วิธีการบำบัดรักษาควรทำเป็นทีมซึ่ง ประกอบด้วยกุมารแพทย์ จิตแพทย์เด็ก นักกิจกรรมบำบัด นักแก้ไขการพูด ครูที่โรงเรียน นักการศึกษาพิเศษ และบุคคลที่สำคัญที่สุด คือคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองที่บ้าน เนื่องจากการเลี้ยงดูมีผลต่อการส่งเสริม และสนับสนุนให้เด็กมีพฤติกรรมที่ถูกต้องเหมาะสมได้ เด็กออทิสติกจะมีความสามารถของตัวรับความรู้สึกและกระบวนการนำความรู้สึกไปที่สมองผิดปกติ โดยเฉพาะด้านระบบการทรงตัว การรับสัมผัส และการรับความรู้สึกจากเอ็นและข้อ ดังนั้น การรักษาเฉพาะทางกิจกรรมบำบัดสามารถให้การกระตุ้นระบบการประมวลผลการรับข้อมูลความรู้สึกของเด็กให้มีพัฒนาการที่ดีขึ้นได้ ซึ่งการเลือกใช้วิธีการบำบัดรักษาหรือเทคนิคเฉพาะทางกิจกรรมบำบัดควรปรึกษา หรือได้รับความเห็นชอบจากนักกิจกรรมบำบัดที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางก่อนลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง เนื่องจากเด็กออทิสติกแต่ละคนจะมีอาการและพฤติกรรมที่มีระดับความรุนแรงแตกต่างกัน รวมถึงความแตกต่างทางศักยภาพ และความสามารถในการพัฒนาของเด็กแต่ละราย และปัจจัยอื่นๆอีก