Category Archives: อินเตอร์เน็ต

สิทธิการคุ้มครองเด็กที่ตกเป็นเหยื่อของการใช้ความรุนแรง

ThuJune201116839_DSC_3505
การคุ้มครองเด็ก เป็นการป้องกันและการจัดการกับความรุนแรง การแสวงประโยชน์และการกระทำมิชอบต่อเด็กซึ่งรวมถึงการแสวงประโยชน์ทางเพศเพื่อการพาณิชย์ การค้ามนุษย์ การใช้แรงงานเด็กและจารีตประเพณีต่างๆที่เป็นภัยต่อเด็ก เช่นการแต่งงานก่อนวัยอันควร การคุ้มครองเด็กมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ความช่วยเหลือเด็กที่ตกเป็นเหยื่อหรือที่เสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อของการใช้ความรุนแรง การกระทำมิชอบ การแสวงประโยชน์และการละเลยทอดทิ้งเด็ก โดยรวมถึงเด็กกำพร้า เด็กเร่รอน เด็กที่ไม่มีสูติบัตร เด็กไร้สัญชาติ เด็กที่กระทำผิดกฎหมาย และเด็กที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้ง ถ้าหากไม่ได้รับการคุ้มครองที่เหมาะสมเด็กเหล่านี้จะตกอยู่ในสภาพเสี่ยงต่อภัยอันตรายหลายประการ เช่น การได้รับบาดเจ็บและการเสียชีวิต การขาดพัฒนาการทางร่างกายและสติปัญญา การติดเชื้อเอชไอวี การขาดโอกาสทางการศึกษา การต้องพลัดถิ่น การไร้ถิ่นฐานที่อยู่และการเร่ร่อน

ปัจจุบันในประเทศไทยมีเด็กจำนวนไม่น้อยที่ออกเดินทางเคลื่อนย้าย จากภูมิลำเนาของตัวเองและครอบครัวไปยังที่อื่นเพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า ทั้งที่เป็นการเคลื่อนย้ายภายในประเทศและข้ามพรมแดนมา โดยเฉพาะจากประเทศเพื่อนบ้านในลุ่มแม่น้ำโขง ได้แก่ พม่า กัมพูชา และลาว การเคลื่อนย้ายของเด็กกลุ่มนี้พบว่ามีทั้งเด็กที่ติดตามมากับผู้ปกครองหรือเครือญาติเพื่อมาหางานทำในประเทศไทย เด็กที่เดินทางมาพร้อมกับกลุ่มเพื่อน หรือเด็กวัยเดียวกัน นอกจากนั้นยังพบว่ายังมีเด็กที่เดินทางมาเพียงลำพังหรือมีขบวนการขนคนเข้าเมืองหรือค้ามนุษย์ลักลอบนำเด็กเข้าเมืองหรือจัดการนำเด็กเคลื่อนย้ายออกจากถิ่นฐานของตน แม้จะมีบางกรณีที่เด็กพบผู้ดูแลหรือนายจ้างที่ให้การดูแลเป็นอย่างดีแต่ก็มีจำนวนน้อยมาก เด็กส่วนใหญ่ที่ย้ายถิ่นยังคงมีความเสี่ยงที่จะถูกแสวงประโยชน์ โดยตกอยู่ในสภาพการทำงานที่เลวร้ายหรือถูกแสวงหาประโยชน์ทางเพศ

พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มีหลักการสำคัญคือ การระดมทรัพยากรทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมดูแล ปกป้อง คุ้มครองเด็กโดยอาศัยการดำเนินงานแบบสหวิชาชีพ เพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็ก กฎหมายฉบับนี้ได้วางระบบการ สงเคราะห์คุ้มครอง สวัสดิภาพและการส่งเสริมความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษาและส่งเสริมความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา และส่งเสริมหน้าที่ความรับผิดชอบของครอบครัว ชุมชน ภาครัฐ ภาคเอกชน ในการร่วมมือกันคุ้มครองเด็ก โดยไม่พึ่งทรัพยากรจากภาครัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546ไม่ใช่กฎหมายเพื่อลงโทษผู้ปกครอง แต่มีเจตนาสนับสนุนให้ผู้ปกครองเลี้ยงดูบุตร ได้โดยไม่ขัดต่อประเพณีปฏิบัติอันดีงามโดยรัฐพร้อมจะให้ความช่วยเหลือ แก่ครอบครัวเมื่อจำเป็น กฎหมายนี้จึงเป็นเสมือนคู่มือสะท้อนให้ผู้ปกครองตระหนักถึงบทบาทหน้าที่และสิ่งอันควรปฏิบัติเพื่อสามารถเลี้ยงดูเด็กให้เติบโตอย่างเต็มศักยภาพและปลอดภัย

การดูแลเด็กออทิสติกให้ได้รับพัฒนาการที่ดี

article-2181542-144E0375000005DC-170_634x423
ออทิสติก (Autistic) เป็นความผิดปกติของพัฒนาการเด็กรูปแบบหนึ่งซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว โดยเด็กไม่สามารถพัฒนาทักษะทางสังคมและการสื่อความหมายได้เหมาะสมตามวัย มีลักษณะพฤติกรรม กิจกรรม และความสนใจเป็นแบบแผนซ้ำๆ จำกัดเฉพาะบางเรื่องและไม่ยืดหยุ่น ปัญหาดังกล่าวเป็นตั้งแต่เล็กส่งผลให้เกิดข้อจำกัดในการดำรงชีวิต ซึ่งยังไม่สามารถหาสาเหตุที่แน่ชัดได้ ถึงแม้ว่ายังไม่ทราบสาเหตุก็ใช่ว่าจะทำอะไรไม่ได้เลย เนื่องจากการดูแลช่วยเหลือในปัจจุบันสามารถช่วยให้เด็กกลุ่มนี้ดีขึ้นได้มาก โดยเฉพาะถ้าได้รับการวินิจฉัยและดูแลช่วยเหลืออย่างเหมาะสมตั้งแต่อายุน้อยๆ และทำอย่างต่อเนื่อง ยังไม่มีวิธีการบำบัดรักษาที่จำเพาะเจาะจงให้หายขาดได้ แต่สามารถช่วยให้เด็กสามารถพัฒนาได้ และพัฒนาได้ดีด้วย

โรคนี้เป็นกลุ่มของโรคที่มีสาเหตุจากความผิดปกติของสมอง แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นสมองส่วนใด ที่ทำให้เกิดความบกพร่องของพัฒนาการด้านภาษาและสังคม โดยความรุนแรงของแต่ละโรคในกลุ่มแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับพัฒนาการทางภาษา ไอคิว และความผิดปกติอื่นๆที่พบร่วมด้วย และจากการสำรวจพบว่าเด็กเป็นออทิสติกมีแนวโน้มสูงขึ้นในทุกประเทศทั่วโลก และพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ในผลสำรวจเด็กที่ป่วยพบว่ากลุ่มเสี่ยงจะอยู่กลุ่มที่แม่มีปัญหาในระหว่างตั้งครรภ์ มีปัญหาระหว่างคลอด หรือหลังคลอด อย่างเช่น สมองของลูกทำงานผิดปกติเนื่องจากการติดเชื้อ อุบัติเหตุ หรือได้รับสารพิษ เช่น สารตะกั่ว หลังคลอดเป็นต้น แต่ไม่ได้หมายความว่าเด็กกลุ่มเสี่ยงจะเป็นเด็กพิเศษทุกคน และเด็กที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงก็อาจเป็นออกทิสติกได้เช่นกัน

วิธีการบำบัดรักษาควรทำเป็นทีมซึ่ง ประกอบด้วยกุมารแพทย์ จิตแพทย์เด็ก นักกิจกรรมบำบัด นักแก้ไขการพูด ครูที่โรงเรียน นักการศึกษาพิเศษ และบุคคลที่สำคัญที่สุด คือคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองที่บ้าน เนื่องจากการเลี้ยงดูมีผลต่อการส่งเสริม และสนับสนุนให้เด็กมีพฤติกรรมที่ถูกต้องเหมาะสมได้ เด็กออทิสติกจะมีความสามารถของตัวรับความรู้สึกและกระบวนการนำความรู้สึกไปที่สมองผิดปกติ โดยเฉพาะด้านระบบการทรงตัว การรับสัมผัส และการรับความรู้สึกจากเอ็นและข้อ ดังนั้น การรักษาเฉพาะทางกิจกรรมบำบัดสามารถให้การกระตุ้นระบบการประมวลผลการรับข้อมูลความรู้สึกของเด็กให้มีพัฒนาการที่ดีขึ้นได้ ซึ่งการเลือกใช้วิธีการบำบัดรักษาหรือเทคนิคเฉพาะทางกิจกรรมบำบัดควรปรึกษา หรือได้รับความเห็นชอบจากนักกิจกรรมบำบัดที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางก่อนลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง เนื่องจากเด็กออทิสติกแต่ละคนจะมีอาการและพฤติกรรมที่มีระดับความรุนแรงแตกต่างกัน รวมถึงความแตกต่างทางศักยภาพ และความสามารถในการพัฒนาของเด็กแต่ละราย และปัจจัยอื่นๆอีก

การให้ความสำคัญในการจัดงานวันเด็กแห่งชาติ

เด็ก คือทรัพยากรที่สำคัญยิ่งของประเทศชาติ ซึ่งจะเป็นกำลังที่สำคัญในการพัฒนาชาติบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าและมั่นคง อีกทั้งเป็นผู้ที่จะต้องเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า เพื่อทำหน้าที่ดูแลสังคมตลอดจนเศรษฐกิจ วัฒนธรรม ความเปลี่ยนแปลง และอื่นๆ ดังนั้นทุกสังคมจึงให้ความสำคัญแก่เด็ก และจัดให้มีวันเด็กขึ้นทุกปี เพื่อให้เด็กรู้ถึงความสำคัญของตนเอง จะได้ประพฤติปฏิบัติตนให้สมกับเป็นผู้ที่มีความสำคัญของประเทศชาติ ด้วยการตั้งใจใฝ่ศึกษาเรียนรู้ ประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในระเบียบวินัย รู้จักการใช้เวลา ความคิด มีความขยันหมั่นเพียร มีความรับผิดชอบ และซื่อสัตย์สุจริต ฯลฯ

วันเด็กแห่งชาติของทุกๆปี เรามักจะเห็นภาพหน่วยงาน องค์กร บริษัท ห้างร้านต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมแรงร่วมใจให้การสนับสนุนและร่วมกันจัดงานเพื่อส่งมอบความสุขให้กับเด็กๆกันอย่างถ้วนหน้า ส่วนใหญ่เรามักจะเห็นภาพเช่นนี้จนคุ้นชินเพียงเฉพาะในวันเด็กแห่งชาติเท่านั้นเอง จนหลายครั้งได้แอบหวังว่าถ้าหากทุกภาคส่วนในสังคมที่มีความพร้อมช่วยเหลือสังคมได้ร่วมแรงผสานใจหยิบยื่นแบ่งปันรินน้ำใจไมตรีส่งผ่านไปยังกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในสังคมได้มีพลังความพร้อมที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น อย่างน้อยก็จะช่วยขจัดความแตกต่างลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมลงได้บ้าง

โดยงานวันเด็กแห่งชาติจัดขึ้นทุกปีในวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมจนถึง พ.ศ. 2506 และใน พ.ศ. 2507 ไม่สามารถจัดงานวันเด็กได้ทัน จึงได้เริ่มจัดอีกครั้งในปี พ.ศ. 2508 โดยเปลี่ยนเป็นวันเสาร์ที่ 2 ของเดือนมกราคม เนื่องจากเห็นว่าเป็นช่วงหมดฤดูฝนและเป็นวันหยุดราชการจนถึงทุกวันนี้ เพื่อให้ประชาชนเห็นความสำคัญและความต้องการของเด็ก และเพื่อกระตุ้นให้เด็กตระหนักถึงบทบาทอันสำคัญของตนในประเทศ โดยปลูกฝังให้เด็กมีส่วนร่วมในสังคม เตรียมพร้อมให้ตนเองเป็นกำลังของชาติ โดยการจัดงานเฉลิมฉลองวันเด็กแห่งชาติในแต่ละประเทศขณะนั้นมีรูปแบบที่คล้ายคลึงกันเป็นส่วนใหญ่ โดยยึดหลักการให้ความสำคัญแก่เด็กเป็นวัตถุประสงค์หลัก โดยเปิดสถานที่ราชการที่สำคัญเช่น พิพิธภัณฑ์ รัฐสภา เป็นต้น เพื่อให้เด็กๆได้เข้าชมและศึกษา บางแห่งจัดการแสดงมหรสพ มีการแจกอาหาร แข่งขันเกม แจกของขวัญ ฯลฯ ต่อมางานนี้ได้รับความสำคัญทั่วโลกจึงได้จัดกันแพร่หลายมาถึงปัจจุบัน

เลี้ยงลูกยุคไอแพ็ด อิทธิพลของเทคโนโลยีต่อเด็ก

ในขณะที่เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามามีบทบาทเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันมากขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัว ตลอดจนการดำเนินชีวิตของครอบครัวไทยมีความแตกต่างไปจากเดิม การเลี้ยงลูกในยุคปัจจุบันดูจะเป็นปัญหาสำหรับพ่อแม่ไม่ใช่น้อย ว่าควรจะเลี้ยงอย่างไรให้เด็กเติบโตเป็นคนดีและมีคุณภาพ

เด็กใช้ไอแพด ไอโฟน แทปเล็ด อย่างคล่องแคล่วเหมือนที่ผู้ใหญ่ พ่อแม่กำลังเลี้ยงลูกในสภาพแวดล้อมที่ไฮเทค แล้วอิทธิพลของเทคโนโลยีจะส่งต่อเด็กอย่างไร คุณเคยประหลาดใจบ้างไหมเวลาเห็นเด็กอายุ 2 ขวบกำลังใช้ไอแพดอย่างคล่องแคล่วเหมือนที่ผู้ใหญ่ทำ เชื่อหรือไม่ว่านี่คือความจริงที่บรรดาผู้ปกครองกำลังพบว่าพวกเขากำลังเลี้ยงดูลูกในสภาพแวดล้อมที่ไฮเทค เด็ก ๆ เหล่านั้นใช้เทคโนโลยีได้ดีเหมือนกับการปล่อยเป็ดลงน้ำทีเดียว คุณอาจเกิดความรู้สึกว่าเทคโนโลยีเปรียบเหมือนสายน้ำซึ่งไม่มีวันหยุดไหล ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม ลูกของคุณ จะเติบโตเป็นคนยุคดิจิตัลตั้งแต่เกิด การเติบโตมากับเทคโนโลยีที่มาพร้อมกับความถูกต้องเป็นข้อได้เปรียบสำหรับเด็กยุคไอแพดแน่นอน แต่การมาพร้อมกับความถูกต้องไม่ได้เป็นเรื่องที่เชื่อถือได้มากมายเช่นกัน

เด็กยุคไอแพ็ดกับการสื่อสาร
ด้านดีเกี่ยวกับสังคมยุคเทคโนโลยีก็คือ เด็กยุคไอแพ็ดสามารถรับข้อมูลข่าวสารแค่ปลายนิ้วสัมผัส บางทีคุณอาจได้เห็นกับตามาแล้วเวลาที่ลูกคุณเข้ายูทูบเพื่อค้นหาทำนองหรือรูปแบบที่แตกต่างของเพลงกล่อมสุดโปรดอย่างสบายอารมณ์ นี่เป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะว่าเด็ก ๆ เป็นพวกชอบการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ นอกจากนี้พวกเขาสามารถติดต่อสื่อสารได้อย่างฉับไวจากทุกมุมโลก หากคุณมีครอบครัวอยู่ต่างประเทศก็นับว่าเป็นเรื่องดีเพราะพวกเขาไม่ต้องกลายเป็นคนแปลกหน้าของลูกคุณ เพียงแต่พวกเขารู้วิธีการใช้สไกป์ กูเกิ้ลแฮงเอ้าท์ หรือวอทแซบบ์

อีกมุมมองหนี่งก็คือ มันมีอัตรายมากมายในโลกอินเตอร์เน็ต มีความผิดพลาดด้านข่าวสารมากมาย  รวมถึงสิ่งล่อใจเช่นการหลอกลวงแนะนำให้ใช้ยาเสพติด  เกมออนไลน์ และสิ่งลามก การคุกคามในโลกไซเบอร์เป็นมาตรฐานใหม่ อาจเป็นโชคร้ายที่บรรดาผู้ปกครองมองไม่เห็น
การเลี้ยงดูเด็กยุคไอแพ็ด
ในฐานะที่เป็นผู้ปกครองของเด็กยุคไอแพ็ด อย่ารีบร้อนที่จะคิดว่าคุณจะเลี้ยงดูลูกของคุณอย่างไร การหลีกเลี่ยงเทคโนโลยีทั้งหมดไม่ใช่คำตอบในเมื่อเด็กๆทั้งหลายต้องเป็นเด็กยุคดิจิตัลเพื่อความอยู่รอดในโลกแห่งอนาคต แต่การเริ่มตั้งแต่ตอนนี้ บรรดาผู้ปกครองคงจะต้องกำหนดมาตรการว่าจะอนุญาตให้เด็กใช้อุปกรณ์ เช่น  ไอแพ็ดและสมาร์ทโฟนรวมถึงแอปต่างๆอย่างไร และวางกฏการใช้ว่า จะใช้อุปกรณ์เหล่านั้นได้บ่อยและนานแค่ไหน

เด็กติดเทคโนโลยีมีผลต่อกระทบพัฒนาการ

เด็กสมัยนี้ เพียงแค่ไม่กี่ขวบก็ใช้คอมพิวเตอร์ เล่น iPad iPhone ของคุณพ่อคุณแม่กันเป็นแล้ว กดปุ่ม เลื่อนสไลด์กันได้อย่างคุ้นเคย เพิ่มขึ้นจากสื่อเดิมๆ อย่างทีวี หรือคอมพิวเตอร์ที่มีอยู่แล้ว ซึ่งอิทธิพลจากเทคโนโลยีเหล่านี้สามารถเข้าถึงเด็กๆ ได้อย่างรวดเร็วมากกว่าเดิม และส่งผลกระทบต่อเด็กพอสมควรทีเดียว

เข้าถึงเทคโนโลยีเร็วขึ้น
ในปัจจุบันเด็กเล็กๆ เข้าถึงเทคโนโลยีรวดเร็วมาก ซึ่งสำหรับเด็กอายุน้อยกว่า 3 ปีถือว่าเร็วไปมาก เพราะในอายุระหว่าง 1-3 ปีนี้ เด็กควรพัฒนาการเคลื่อนไหว พื้นฐานการช่วยเหลือตัวเอง เรียนรู้ทักษะทางด้านสังคมรวมทั้งการสื่อสารกับผู้อื่นเป็นหลัก เทคโนโลยีไม่สามารถทดแทนการเรียนรู้ผ่านการเล่นกลางแจ้ง การทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นได้ นอกจากนั้นพื้นฐานของพัฒนาการซึ่งมีความจำเป็นในการใช้อุปกรณ์ต่างๆ เหล่านี้ก็ยังพัฒนาได้ไม่ดี เช่น การควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อมือ การทำงานที่ประสานกันระหว่างสายตาและมือ ช่วงวัยนี้เด็กยังไม่สามารถเข้าถึงสื่อต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง จึงเป็นบทบาทหน้าที่ของคุณพ่อ คุณแม่ที่จะต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมของการเข้าถึงสื่อและเทคโนโลยีตามบริบท และบรรทัดฐานของครอบครัว อย่างไรก็ตามไม่แนะนำให้ใช้เทคโนโลยีโดยมีเป้าหมายส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็กในช่วงวัยนี้

ผลกระทบต่อพัฒนาการ
การเร่งเด็กมากเกินความสามารถและพัฒนาการตามวัยของเขา ทำให้เด็กเสียโอกาสการเรียนรู้อย่างเหมาะสมตามวัย เพราะการเรียนรู้อย่างเหมาะสมเป็นขั้นตอนจะเป็นพื้นฐานที่ดีต่อการต่อยอดความสามารถด้านอื่น เช่น เทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสมสำหรับเด็กในช่วงวัยนี้อาจทำให้เด็กซึ่งควรได้รับการพัฒนาทักษะการเคลื่อนไหวให้คล่องขึ้น มีการเคลื่อนไหวน้อยลง ทำให้ไม่สามารถพัฒนาตัวเองด้านนี้ได้เต็มที่ อาจทำให้เป็นเด็กที่เฉื่อยชา ซึ่งหมายถึงมีความล่าช้าของพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหว ไม่ชอบการออกกำลังกาย ไม่ชอบกิจกรรมกลางแจ้ง เมื่อออกกำลังกายน้อยลงหากรับประทานเท่าเดิม หรือรับประทานมากขึ้นแต่มีการเคลื่อนไหวน้อยก็จะเกิดโรคอ้วนหรือน้ำหนักเกินตามมาได้ การให้เด็กอยู่กับเทคโนโลยีมากเกินความจำเป็นยังทำให้เด็กขาดทักษะในการติดต่อสื่อสารผ่านการพูดคุยกับผู้อื่น ทักษะในการปรับตัวเข้าหาผู้อื่น รู้จักแพ้ รู้จักชนะ รู้จักต่อรอง รู้จักอดทนรอคอย ซึ่งเป็นพื้นฐานของการใช้ชีวิตต่อไปในอนาคตของเขา นอกจากนี้เด็กอาจได้เรียนรู้แบบอย่างที่ไม่ดีผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น จากรายการโทรทัศน์ จากโฆษณา หรือเกมคอมพิวเตอร์ต่างๆ ซึ่งอาจมีความรุนแรงหรือสอดแทรกค่านิยมที่ไม่เหมาะสมผ่านสื่อต่างๆเหล่านั้น นอกจากนี้อาจมีผลกระทบทางด้านสุขภาพร่างกายของเด็กเล็กๆ เช่น แสงจากจอคอมพิวเตอร์ หรือโทรทัศน์ที่ไม่เหมาะสมอาจมีผลต่อสายตาและการมองเห็นของเด็กได้

เทคโนโลยีนั้นอาจมีประโยชน์ หากเราใช้ให้เป็น แต่ก็อาจเป็นดาบสองคม หากเอามาใช้ผิดเพี้ยนไป หากสำหรับเด็กแล้ว ควรวางรากฐานพัฒนาการให้ได้พัฒนาอย่างเต็มที่ก่อน ซึ่งมีหลายเรื่องให้ได้เรียนรู้ โดยไม่จำเป็นที่ต้องเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีเสมอไป