ฟังคำแนะนำจากแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ เผยการดูแล-ใกล้ชิดลูก คือภูมิคุ้มกันชั้นยอด แนะผู้ปกครองอย่าใช้อารมณ์เป็นทางออก ใช้หากิจกรรมอื่นสร้างประโยชน์ ช่วยดึงความสนใจเด็กจากแท็บเล็ต-สมาร์ทโฟน-คอมพ์ ได้…
ความบันเทิงประเภท “เกม” มักจะเป็นเครื่องคลายเครียด คลายเหงา แถมยังเป็นพฤติกรรมเพลินๆ ที่ช่วยฆ่าเวลาว่างให้เราได้ดีเสมอมา แต่… เมื่อใดก็ตามที่เกิดเหตุการณ์หรือปัญหา อาทิ การฉ้อโกง ความรุนแรง ความเสียหาย หรือแม้แต่การล่อลวงขึ้นในสังคม จากเกมที่เคยเป็นศูนย์รวมความบันเทิง กลายเป็นอบายมุขไปทันที
เห็นกันง่ายๆ ใกล้ตัว และปรากฏเป็นข่าวร้อนตามสื่อต่างๆ เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมากที่สุดข่าวหนึ่ง คงจะหนีไม่พ้นเรื่องราวชวนตะลึง หลังจากผู้เป็นแม่เปิดโอกาสให้ลูกนำสมาร์ทโฟนไปเล่นเกม ทำให้จุดเริ่มต้นความบันเทิงใกล้ตัวอย่างเกมบนมือถือ กลายเป็นหนี้สินไปในชั่วพริบตา
“ปัญหาเกี่ยวกับการเล่นเกมมีให้เราพบเห็นมาก ก็เพราะเทคโนโลยีเข้าใกล้เยาวชนมากขึ้น พ่อแม่จำเป็นต้องดูแลลูกให้ใกล้ชิด เมื่อเกิดปัญหา บางคนบอกว่าจะไม่ให้ลูกเล่นเกมอีกแล้ว ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีสำหรับเด็กเล็ก แต่กับเด็กวัยรุ่นที่กำลังโตคงไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะห้ามพวกเขา เพราะปัจจุบันเกมกลายเป็นสังคมหนึ่งของเด็กๆ ไปแล้ว
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ยังแนะนำด้วยว่า ผู้ปกครองควรเลือกใช้ทางสายกลาง เช่น อนุญาตให้ลูกเล่นเกมได้แต่จะต้องเลือกเกม กำหนดเวลาการเล่น หรือตั้งกติการ่วมกันในการเล่นเกมแต่ละครั้ง หากเล่นเกมเกินเวลาหรือใช้เงินซื้อไอเทมเกมออนไลน์โดยไม่ขออนุญาต อาจต้องมีบทลงโทษห้ามเล่น 3 วัน หรือ 1 สัปดาห์ เพื่อฝึกและควบคุมพฤติกรรมพวกเขาตั้งแต่ตอนยังเป็นเด็ก นอกจากนี้ยังควรต้องหากิจกรรมอื่นให้ทำมากกว่าการเล่นเกม อาทิ ออกกำลังกาย อ่านหนังสือ หรือเล่นเกมแบบไทยๆ เพราะนอกจากจะทำให้ได้เคลื่อนไหวร่างกายมากกว่าการนั่งกดมือถือ-แท็บเล็ต เพื่อเล่นเกมแล้ว ยังได้ฝึกทักษะการเข้าสังคมอีกด้วย แต่หากไม่อยากให้เกิดปัญหาเรื่องการเล่นเกมตามมา ผู้ปกครองควรกำหนดกติการ่วมกับบุตรหลานตั้งแต่แรก เนื่องจากการป้องกันนั้นดีกว่าการแก้ไข นอกจากนั้น พ่อแม่ก็ต้องใกล้ชิด ดูแล และพยายามดึงลูกหลานออกมาทำกิจกรรมอื่นๆ ด้วย
“นอกจากเป็นพ่อแม่ผู้ปกครองแล้ว ควรเป็นเพื่อนให้กับลูกๆ ด้วย นอกจากการสอนให้ลูกรู้จักการคิดและตัดสินใจ ก็ควรสอนให้เขาเท่าทันสังคมด้วย แม้จะเป็นการพูดย้ำๆ ซ้ำๆ ก็จำเป็นต้องทำ แต่การสั่งหรือแนะนำก็ต้องไม่ใช้อารมณ์ พูดบ่อยได้แต่ก็ต้องไม่มากไปไม่น้อยไป นอกจากวัยเด็กจะต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิดแล้ว วัยรุ่นก็เป็นวัยที่พ่อแม่ต้องดูแลเช่นกัน แต่พฤติกรรมการดูแลอาจจะไม่ต้องใกล้ชิดมากเท่ากับวัยเด็ก ควรจะถอยห่างออกมาให้เขาได้มีอิสระและเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้ด้วยตนเอง อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้ใหญ่จะสอนเด็กก็ควรต้องทำตัวให้เป็นแบบอย่างที่ดีด้วย ไม่ใช่ว่าห้ามลูกเล่นเกมแต่ทุกครั้งที่เจอหน้ากันก็เอาแต่กดมือถือจนไม่เงยหน้ามองคนในครอบครัว”